SC Coffee House Blend

กิจกรรมการเบลนด์กาแฟพิเศษ เพื่อสร้าง ‘กาแฟในอุดมคติ‘ ของคุณ
โดยมีพื้นฐานส่วนผสมของกาแฟที่ดีเหล่านี้

กาแฟดอยผักกูด

แหล่งปลูก : ดอยผักกูด อำเภอ ปาย จังหวัด แม่ฮ่องสอน

หมู่บ้านในโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระพันปีหลวงเมื่อปี 2549 เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ฟื้นฟูธรรมชาติและเพื่อความมั่นคงในบริเวณชายแดนไทย-พม่า มีการรวบรวมชาวบ้าน ให้มาทำกินรวมกันโดยจัดสรรพื้นที่ทำกินและจัดอบรมทักษะความรู้ด้านต่าง ๆ กาแฟดอยผักกูดเริ่มต้นจากเหตุผล ความมั่นคงของประเทศและการอนุรักษ์ป่าไม้ตามธรรมชาติชาวบ้านปลูกกาแฟโดย ทหารกองทัพภาคที่ 3 ช่วยดูแลอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ 

กาแฟดอยผักกูด มีเกษตรกรรุ่นบุกเบิกชาวลัวะอย่าง พี่ปฏิพัทธ์ พัฒนะกายา หรือ อาจารย์วอ คอยสนับสนุนชาวบ้าน ด้านองค์ความรู้ และเชื่อมต่อผลผลิตจากดอยผักกูด สู่โรงคั่วกาแฟปรีดา

บ้านผักกูดตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่า 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่ต้นน้ำของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช คุณภาพเชอรี่ที่ปลูกได้จัดอยู่ในระดับดีมาก เหมาะสำหรับการนำมาทำกาแฟพิเศษด้วยนวัตกรรมการหมักตากที่โรงคั่วกาแฟปรีดาพัฒนาขึ้น ทำให้สารกาแฟที่ผลิตจากที่นี่มีกลิ่นรสที่ดีและมีเอกลักษณ์

เป้าหมายในการปลูกกาแฟของดอยผักกูด

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสนพระทัยในความปลอดภัยของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงมีพระราชดำริ “ให้พิจารณาหาแนวทางในการดำเนินงานจัดตั้งหมู่บ้านในรูปแบบบ้านยามชายแดน เพื่อพัฒนาราษฎรในพื้นที่ให้เข้มแข็ง มีส่วนร่วมรักษาประเทศชาติอย่างมีระบบ ตามแนวทางของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” การปลูกกาแฟ เป็นหนึ่งในการพัฒนาให้หมู่บ้านยามชายแดนแห่งนี้ มีความเข้มแข็ง สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อย่างยั่งยืน

โกลฮาคี

แหล่งปลูก : ดอยผักกูด อำเภอ ปาย จังหวัด แม่ฮ่องสอน

‘โกลฮาคี’ ในภาษากะเหรี่ยง หมายถึง ลำน้ำห้าสาย อาชีพของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำนา ทำไร่ ทำสวน และปลูกกาแฟ วัชรพงษ์ กระท่อมร่มไพร หรือปันปัน ชายหนุ่มสายเลือดปกาเกอะญอ กลับมาพัฒนาบ้านเกิดเพื่อสืบสานอาชีพเกษตรกร ที่ทำกันมานานนับแต่รุ่นปู่ โดยยึดหลักระบบเกษตรแบบผสมผสาน ปันปันเล่าว่า 

“คนแรกที่นำกาแฟต้นแรกมาสู่หมู่บ้านโกลฮาคีเมื่อ 50 ปีก่อน คือคุณปู่ ซึ่งต้นกล้ากาแฟที่ได้เป็นสายพันธุ์คาทูร์รา (Caturra) จากอาจารย์แมน มิชชันนารีผู้มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่หมู่บ้านห้วยห้อม ปู่ลองปลูกกาแฟไว้ที่รั้วบ้าน ต้นเจริญเติบโต งอกงามออกดอกออกผลเต็มต้น แต่ไม่รู้วิธีกินหรือเอาไปทำอะไร ชาวบ้านจึงลองเอาใบมาต้มดูคิดว่าน่าจะเหมือนใบชา ต่อมาพ่อก็ลองเอาเมล็ดกาแฟจากต้นแรกมาเพาะขยายพันธุ์ในสวน เพราะเห็นว่าเป็นต้นไม้แปลกดี เผื่อจะขายได้ พ่อปลูกขยายพันธุ์เต็มสวน แต่ช่วงนั้นไม่มีตลาด ไม่สามารถขายได้ จึงตัดต้นกาแฟทิ้งทั้งสวน แล้วไปปลูกกะหล่ำแทน เหลือไว้ดูแค่ต้นเดียว

หลังจากนั้นปีพ.ศ. 2521 ในหลวง ร.9 เสด็จมาตำบลห้วยห้อม เพื่อมาส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือกาแฟ โดยโครงการหลวงเป็นผู้ดูแลรับซื้อผลผลิต ในปีพ.ศ. 2526 พ่อได้กลับมาปลูกกาแฟในสวนโกลฮาคี อีกครั้ง โดยนำสายพันธุ์จากโครงการหลวง ที่นำมาแจกชาวบ้านประกอบด้วย พันธุ์เบอร์บอน (Bourbon), ทิปปิก้า (Typica), คาติมอร์ (Catimor) และนำต้นที่ไม่ได้ตัดทิ้งกลับมาขยายพันธุ์อีกครั้ง ช่วงแรกในสวนยังเป็นพื้นที่โล่ง ฤดูร้อนต้นกาแฟ ก็เหี่ยวเฉา พ่อจึงเริ่มปลูกต้นไม้ใหญ่ เช่น ขนุน มะนาว ต้นเนียง ส้มโอ อโวคาโด ลิ้นจี่ เพื่อเป็นร่มเงาให้กับต้นกาแฟ และปล่อยให้ต้นไม้ป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติ เช่น มะขามป้อม ตะขบป่า มะเดื่อป่า ได้ทำหน้าที่ดูแลต้นกาแฟเช่นกัน เมื่อโครงการหลวงเข้ามาดูแลการตลาด ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงหันมาปลูกกาแฟเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน ทุกบ้านต้องมีสวนกาแฟและมีรายได้เลี้ยงครอบครัว” 

ปัจจุบัน สวนกาแฟของปันปัน  ได้มีการปลูกสายพันธุ์กาแฟเพิ่มเติม เช่น เกอิชา (Geisha) และจาวา (Java)

ปรีดาผูกพันกับโกลฮาคีมานานกว่า 6 ปี กาแฟที่นี่เพาะปลูกบนภูเขาที่มีความสูงถึง 1,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช อีกทั้งยังปลูกรวมกับผลไม้มากมายหลายชนิด ทุกครั้งที่ชิมกาแฟจากหมู่บ้านโกลฮาคี จะได้ taste note แบบผลไม้จำพวก tropical fruit ตามมาด้วยเสมอ ถือเป็นเอกลักษณ์ที่พัฒนาขึ้นตามธรรมชาติ ที่สำคัญคือคุณภาพของกาแฟจากฝีมือการปลูกและทำ Process ของปันปันและภรรยา คุณเรตินา พรสินโลก  การันตีด้วยรางวัล  Rank 9 honey process, Thailand Coffee Fest 2021 และรางวัลที่ 6 Wash Process จากเวทีประกวด Thai Specialty Coffee Awards 2022 

เป้าหมายในการปลูกกาแฟของเกษตรกร

“ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยทำงานเมืองนอก วันนี้กลับมาบ้านก็เพราะคิดว่าถ้าหากเราปลูกกาแฟหนึ่งต้น มันก็จะเป็นของเราหนึ่งต้น ปลูกสองต้นก็เป็นของเราสองต้น เรามาปลูกกาแฟต่อจากพ่อดีกว่า…ผมจะทำให้บ้านของผมดีขึ้น”

ขอบคุณที่มาร่วมสร้าง ‘กาแฟที่ดี’ ดีต่อโลก และ ดีต่อเราไปด้วยกัน